ทีมกรุ๊ปชี้สถานการณ์น้ำท่วมปีนี้ พื้นที่บางเลน บางไทร สองพี่น้อง บางปลาม้า บางปะหัน องครักษ์ และบางน้ำเปรี้ยว ยังคงท่วมและระดับน้ำสูงกว่าเดิม จากการขยายแนวป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาล เตือนรับมือเหตุขัดแย้งของคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ผอ.จีสด้าให้ระวังพายุจร 3 - 3.5 ลูก เสี่ยงน้ำท่วมในพื้นที่ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ด้านชลประทานยืนยันความพร้อมรับปริมาณน้ำมากกว่าปีที่แล้ว...
เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จัดราชดำเนินเสวนา "ปี 55 น้ำท่วมหรือเอาอยู่" โดยนายรอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในปีนี้ จะมีปริมาณเท่ากับปี 2551 คือ ประมาณ 1,500 มิลลิเมตรกว่าๆ และจะมีฝนตกมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 20 เปอร์เซ็นต์เศษๆ ซึ่งปริมาณน้ำขนาดนี้ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมอยู่แล้วในพื้นที่เส่ียง เช่น พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี เป็นต้นรวมทั้งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำหรือแถบลุ่มน้ำยม ลุ่มน้ำน่าน รวมถึงพื้นที่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา แต่จะมีปริมาณไม่เท่ากับปี 2554 ที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะมีปัจจัยเสี่ยงจากพายุที่อยู่นอกเหนือการควบคุมที่อาจจะทำให้น้ำมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้ แต่ปีนี้ระบบการป้องกันน่าจะดีขึ้นทั้งในเรื่องของข้อมูล กลไกการเตือนภัยตั้งแต่ระดับตำบลที่จะส่งมาถึงส่วนกลางและการบริหารจัดการ น้ำที่เน้นการระบายน้ำที่เหมาะสมกับช่วงเวลา
นางอัญชลี ชวนิชย์ นายกสมาคมนิคมอุตสาหกรรมไทยและพันธมิตร กล่าวว่า นักลงทุนและภาคเอกชน มีความเป็นห่วงสถานการณ์น้ำท่วมมากเพราะมีบทเรียนจากปี 2554 โดย 6 นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีที่ถูกน้ำท่วม ได้สร้างเขื่อนเพื่อป้องกันตนเอง โดยทั้ง 6 นิคมฯ มีแนวเขื่อนยาวรวมกัน 137 กิโลเมตร ส่วนนิคมฯที่มีแนวเขื่อนยาวที่สุดคือนิคมอุตสาหกรรม โรจนะ มีความยาวถึง 77 กิโลเมตรเนื่องจากมีพื้นที่มาก เชื่อว่าถ้าปริมาณน้ำเท่ากับปี 2554 จะสามารถป้องกันนิคมฯ ได้ แต่่สิ่งที่ภาคเอกชนเป็นห่วงมากหากเกิดน้ำท่วม คือ เรื่องการขนส่ง อยากให้รัฐบาลช่วยดำเนินการหาทางออกด้วยรวมทั้งการเตือนล่วงหน้า อยากให้รัฐบาลให้ข้อมูลถี่ขึ้นและชัดเจนจะได้เตรียมรับมือได้ เพราะระบบการ สื่อสารการให้ข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และควรมีคนที่น่าเชื่อถือให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือเพียงคนเดียว ไม่ใช่ให้สะเปะสะปะ ที่สำคัญช่วยให้ข้อมูลที่เป็นภาษาง่ายๆ ให้เข้าใจง่ายๆ
นายเลิศชัย ศรีอนันต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปีนี้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักคือภูมิพลกับสิริกิติ์และป่าสัก สามารถรับน้ำได้มากกว่าปีที่แล้ว ที่สำคัญกรมชลประทาน ได้เตรียมพื้นที่รับน้ำนอง ไว้ถึง 24,700 ไร่เศษ ทำให้โครงสร้างพ้ืนฐานในการรับน้ำมีความพร้อมพอสมควร แต่สิ่งที่ควรระวังคือพายุจร ที่จะพัดเข้ามาโดยกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีพายุจรเข้าประเทศไทยประมาณ 1 - 2 ลูก ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ที่มีพายุเข้ามาถึง 5 ลูก ด้าน
นายอานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ปีนี้ประเทศไทยยังมีความเสี่ยงน้ำท่วมจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่อาจจะเป็นจุดพลิกผันคือมีฝนตกมากๆ ในพื้นที่แปลก ๆ ในช่วงเวลาที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะฉะนั้นการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงจะต้องพร้อมเพราะประชาชนมีความคาด หวังค่อนข้างสูงต่อการรับมือของรัฐบาล โดยพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด และภาคใต้ ที่จะต้องเจอกับพายุ ร่องฝนและความกดอากาศต่ำ ในขณะที่เครื่องมือในการรับมือและจัดการในระดับพื้นที่มีข้อจำกัดมาก ที่สำคัญพายุขนาดกลางและใหญ่ น่าจะมีมากกว่าที่กรมอุตุฯ คำนวณคือ 1 - 2 ลูก ตนเชื่อว่าน่าจะมีสัก 3 ลูกถึง 3 ลูกครึ่ง
ขณะที่นายชวลิต จันทรรัตน์ กรรมการผู้จัดการบริษัททีมกรุ๊ป กล่าวว่า ปีนี้หน่วยงานของรัฐต้องดูแลเรื่องความขัดแย้งของประชาชนให้ดี เพราะระบบการ ป้องกันแตกต่างกันมาก ระหว่างปทุมธานีกับกรุงเทพฯ รวมทั้งคนปทุมธานีกับคนปทุมธานี เพราะ จ.ปทุมธานี มีพื้นที่ป้องกันครึ่งหนึ่ง และอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับผลกระทบ ดังนั้นต้องเข้าไปบริหารจัดการ ให้ประชาชนเข้าใจ อย่าให้คนปทุมธานีต้องมาทะเลาะกันเอง ต้องเร่งเครื่องสูบน้ำดูแลเครื่องมือให้ดี เพราะรัฐบาลขยายแนวป้องกัน ตั้งแต่คลองมหาสวัสดิ์ขึ้นไปไว้ที่คลองพระยาบรรลือและขยายแนวป้องปันจากคัน กั้นน้ำพระราชดำริตามคลองหกวาสายล่าง ถนนหทัยราษฎร์ขึ้นไปอยู่ที่คลองรังสิต นอกจากนั้นการขยายกว้างถึงคลองระพีพัฒน์ ซึ่งจากแบบจำลองจะทำให้พื้นที่ป้องกันน้ำท่วมเพิ่มขึ้น เดิมป้องกัน 1.9 ล้านไร่ ขยายไปเป็น 4 ล้านไร่ ขยายออกจากกรุงเทพฯ ไปป้องกันปทุมธานี นนทบุรีด้วย ทำให้น้ำผ่านเมืองน้อยลง พื้นที่ปลอดภัยเยอะขึ้นจริง แต่พื้นที่น้ำท่วมเท่าเดิม แต่ทำให้การไหลของน้ำสะดวกน้อยลงทำให้ระดับความลึกของน้ำท่วมสูงขึ้น รวมทั้งมีการสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมที่ต่างฝ่ายต่างป้องกันตัวเองยิ่งจะผนวก ให้น้ำท่วมสูงขึ้นด้วย เช่น บางเลน บางไทร สองพี่น้อง บางปลาม้า ฝั่งตะวันออกก็บางปะหัน องครักษ์ บางน้ำเปรี้ยว น้ำลึกกว่าปี 2554 มาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น