วันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

แนวรบน้ำท่วม'55 ไม่เช็กปั๊ม..เอาไม่อยู่

ปีนี้จะท่วมอีกไหม? เป็นคำถามที่ผู้ประสบภัยปีที่แล้วยังต้องลุ้น แม้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะออกมาให้ความมั่นใจก็ตาม แต่ดูเหมือนชาวบ้านไม่ใคร่เชื่อถือ เพราะผลงานปีที่ผ่านมาเห็นกันอยู่...เอาอยู่ เป็นยังไง

“จะท่วมหรือไม่ ต้องเข้าใจไว้ก่อนว่าโดยธรรมชาติแล้ว ภายใน 3 วัน ถ้าฝนตก 1 ห่า หรือน้ำฝนเต็มบาตรพระที่เอาไปวางไว้กลางแจ้ง เจออย่างนี้ไม่ว่าที่ไหนๆ น้ำท่วมด้วยกันทั้งนั้น

แม้ปีนี้หลายพื้นที่จะมีท่วม โดยเฉพาะพื้นที่ราบลุ่มต่ำ อย่าง บางระกำ จ.พิษณุโลก โพทะเล จ.พิจิตร บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำทุกปี จะต้องเจอน้ำท่วมเหมือนเดิม แต่พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญใน กทม.จะไม่เหมือนปีที่แล้ว

และต่อให้ปีนี้น้ำจะมามากเท่าปีที่แล้ว กล้าพูดได้เลยว่า น้ำจะไม่ท่วมสนามบินดอนเมืองแน่นอน”



รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยืนยันทั้งในฐานะนักวิชาการด้านน้ำ และหนึ่งในคณะอนุกรรมาธิการติดตามการแก้ปัญหาน้ำท่วมของวุฒิสภา จึงได้รู้ได้เห็นความเป็นไปที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งที่คลองเปรมประชากรยังไม่ได้ขุดลอก เพราะทางการอ่อนแอ ประชาชนเข้มแข็งสร้างบ้านรุกล้ำลำคลองเต็มไปหมด...น้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพฯ จะไม่ท่วมสนามบินดอนเมืองได้อย่างไร

กล้ายืนยันก็เพราะว่า จุดอ่อนสำคัญที่ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ใน กทม. และท่วมสนามบินดอนเมืองเมื่อปีที่แล้ว...มาปีนี้ มีการกำจัดจุดอ่อนนั้นแล้ว

จุดอ่อนที่ว่า...แนวคันกั้นน้ำริมคลองรังสิตประยูรศักดิ์

ตั้งแต่ทางรถไฟมุ่งไปตะวันออกจนถึงสะพานข้ามคลองรังสิตฯ แล้วเลี้ยววกเข้าเมืองมาทางทิศใต้ไปตามถนนพหลโยธิน ผ่านหน้า รพ.ธัญรักษ์ เซียร์ รังสิต สนามกีฬาธูปเตมีย์ จนมาบรรจบกับแนวคันกั้นน้ำของ กทม.

แนวคันกั้นน้ำนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ที่จะต้องทำให้เสร็จเพื่อป้องกันน้ำจากคลองรังสิตฯ คลอง 1 และ 2 ไม่ให้ล้นทะลักเข้าท่วม กทม. ...ปีที่แล้วไม่ได้ทำเลยเป็นเหตุให้น้ำทุ่งจากทางเหนือไหลล้นทะลักเข้าท่วมสนามบินดอนเมือง จนกระทรวงคมนาคม ภายใต้การนำของ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม ในตอนนั้น ต้องตาลีตาเหลือกเอาบิ๊กแบ็กมาทิ้งขวางกั้นน้ำที่หลากเข้าใจกลาง กทม.นั่นแหละ

ปีที่แล้วไม่ได้ทำ...แต่ปีนี้ทำแล้ว

ทำแบบใหม่ กำลังทำใกล้เสร็จทันรับฤดูน้ำหลากปีนี้แน่


“ปีนี้นอกจากจะมีการสร้างแนวกั้นน้ำถาวรขึ้นมาแล้ว ยังมีการปรับขยับแนวคันกั้นน้ำของ กทม.ให้ขึ้นมาทางเหนือ ห่างจากแนวเดิมหลายกิโลเมตร

แนวคันกั้นน้ำตามพระราชดำริเดิม จะอยู่เฉพาะในเขต กทม. แต่คราวนี้ได้ขยับแนวขึ้นมาถึงริมคลองรังสิตด้านทิศใต้ ในเขต จ.ปทุมธานี ทำเป็นกำแพงคอนกรีตสูงกว่าระดับน้ำท่วมปีที่แล้ว อีก 50 ซม.

สร้างกำแพงคอนกรีตตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงคลอง 2 และตั้งแต่คลอง 2 ไปจนถึงคลอง 7 จะสร้างเป็นถนนกั้นน้ำ ที่มีความสูงกว่าระดับน้ำท่วมปีที่แล้ว 50 ซม.เช่นกัน

จุดนี้สร้างเป็นถนนกั้นน้ำ เพราะค่าใช้จ่ายถูกกว่า ใช้งบประมาณน้อยกว่าสร้างกำแพงคอนกรีต ที่สำคัญทำเป็นถนนใช้ประโยชน์ได้มากกว่ากำแพงคอนกรีต ที่ใช้ประโยชน์กั้นน้ำปีหนึ่งแค่ 2-3 เดือนเท่านั้น ขณะที่ทำเป็นถนน ใช้ประโยชน์ได้ทั้งกั้นน้ำ และให้รถวิ่งสัญจรไปมาได้ทั้งปี

จริงๆแล้วริมคลองรังสิตฯ ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยามาจนถึงคลอง 2 เขาก็อยากทำเป็นถนนเหมือนกัน แต่ทำไม่ได้เพราะบริเวณนั้นมีชาวบ้านบุกรุกเข้าไปอยู่อาศัยกันมาก แบบเดียวกับคลองเปรมประชากร เลยต้องเลี่ยงมาทำกำแพงคอนกรีตราคาแพงแทน”


ถึงคลอง 7 แนวถนนกั้นน้ำจะวกมาเชื่อมกับถนนสายคลอง 7- ลำลูกกา จนมาบรรจบกับแนวคันกั้นน้ำเดิม ของ กทม.บริเวณถนนนิมิตใหม่...แนวคันกั้นน้ำที่ทำใหม่นี้ รศ.ชัยวัฒน์ มั่นใจว่า สามารถกั้นน้ำที่จะทะลักจากทางทิศเหนือ เข้าสนามบินดอนเมืองได้...ไม่เหมือนปีที่แล้ว

ไม่เพียงจะเป็นแนวปราการป้องกันกรุงเทพฯ ป้องกันสนามบินดอนเมืองเท่านั้น พื้นที่บางส่วนของ จ.ปทุมธานี อย่างหมู่บ้านเมืองเอกที่จมน้ำไป 3-4 เมตร ห้างเซียร์ รังสิต ชุมชน หมู่บ้านจัดสรรโดยรอบ ไปจนถึงคลอง 7 ที่เคยถูกน้ำท่วม จะไม่เจอเหตุการณ์เหมือนปีที่แล้ว

“แต่ปราการนี้จะเอาอยู่แค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่ที่คันกั้นน้ำอย่างเดียว จุดสำคัญอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้คือปั๊มน้ำ

จะต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ไม่ใช่น้ำมาปั๊มเสีย สูบน้ำไม่ได้อย่างปีที่แล้ว เจออย่างนี้แนวกั้นน้ำที่ทำขึ้นมาใหม่ก็เอาไม่อยู่เหมือนกัน

ฉะนั้น เจ้าหน้าที่ต้องเร่งตรวจสอบความพร้อมของปั๊มน้ำเสียแต่เนิ่นๆ และควรตรวจเช็กสภาพล่วงหน้า 3 เดือน ตรวจกันเสียแต่ตอนนี้ เพราะปั๊มน้ำขนาดใหญ่สูบได้นาทีละ 3,000 ลิตร เมืองไทยผลิตไม่ได้

เครื่องเกิดเสียขึ้นมา ต้องรออะไหล่นาน 2–3 เดือน ตรวจเช็กช้าอะไหล่มาไม่ทัน มีปั๊มก็เหมือนไม่มี”

ถ้าปั๊มน้ำพร้อมใช้งาน ไม่มีเสีย...มั่นใจได้ 100% ปีนี้สนามบินดอนเมืองไม่ท่วมแน่

แนวรบน้ำด้านทิศเหนือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา มั่นใจได้...แล้วปราการด้านเหนือฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดน้ำท่วมเมืองหลวงฝั่งธนบุรีเป็นยังไง


“แต่ไหนแต่ไรมา ฝั่งธนฯไม่มีแนวคันกั้นน้ำเหมือนฝั่งกรุงเทพฯ ผลจากเหตุการณ์น้ำท่วมปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการทำแนวคันกั้นน้ำขึ้นมาใหม่ คราวนี้ไม่ได้ทำแนวกั้นใกล้ประชิดเมืองหลวง แต่ออกไปทำแนวปราการตั้งรับทัพน้ำออกไปไกลถึงอยุธยา สุพรรณบุรี กันเลยทีเดียว

ทำเป็นถนนคันกั้นน้ำแบบเดียวกับช่วงคลอง 2-คลอง 7 ทำลัดเลาะเลียบคลองพระยาบันลือ ตั้งแต่ปากคลองริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไปจนถึงปากคลองริมแม่น้ำท่าจีนที่ อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี

นอกจากจะเพื่อผันน้ำให้ลงแม่น้ำท่าจีนมากขึ้น ยังกั้นน้ำเหนือไม่ให้ทะลักเข้าท่วม ลาดหลุมแก้ว บางบัวทอง บางใหญ่ บางเลน รวมทั้ง กทม.ฝั่งธนบุรีได้ด้วย รวมทั้งยังใช้ประโยชน์เป็นเส้นทางในการสัญจรในยามปกติ และเป็นถนนที่สามารถส่งข้าวของความช่วยเหลือไปให้ชาวบ้านได้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเหตุการณ์น้ำท่วมคราวที่แล้วก็คือ ไม่มีถนนหนทางที่นำความช่วยเหลือไปให้ชาวบ้านได้

แต่คันกั้นน้ำแนวนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง ปีนี้คาดว่าน่าจะเสร็จได้แค่ระดับทำเป็นแค่คันกั้นน้ำ ไม่ถึงขั้นทำเป็นถนนให้รถวิ่งได้”

นี่เป็นอีกปัจจัยที่ รศ.ชัยวัฒน์ กล้ายืนยันปีนี้จะไม่เหมือนปีที่แล้ว

แต่นั่นเป็นแค่เพียงแนวตั้งรับ เขตเศรษฐกิจที่ปลายน้ำ...แนวรับกลางน้ำ ต้นน้ำเป็นยังไง ติดตามตอนต่อไป.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น