วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2555

มะกันหวั่นไวรัส 'เวสต์ ไนล์' ซีดีซีห่วงกลายพันธุ์

ความคืบหน้าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส “เวสต์ ไนล์” ที่มียุงเป็นพาหะในสหรัฐฯในรอบปีนี้ สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อวันที่ 23 ส.ค.ว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ เผยว่า ตอนนี้ถือว่าอยู่ในระหว่างกลางของการระบาดของไวรัส “เวสต์ ไนล์” ครั้งใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมาในสหรัฐฯ

ทั้งนี้ หลังพบผู้ป่วยแล้ว 1,118 คนใน 38 รัฐ ในจำนวนนี้ราวครึ่งหนึ่งอยู่ในรัฐเท็กซัสโดยเฉพาะพื้นที่เมืองดัลลัส แต่น่าจะมีผู้ป่วยอาการไม่ร้ายแรงอีกมากที่ไม่มาพบแพทย์ และยังเร็วไปที่จะบอกว่าสถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหน ณ ช่วงปลายปี

ซีดีซีระบุด้วยว่า ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ในแต่ละปีพบในช่วงเดือน ส.ค.และ ก.ย. แต่ปีนี้ถือว่าระบาดหนักกว่าทุกปีที่ผ่านมาถึง 4 เท่า และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 41 ศพ โดยอยู่ในเท็กซัส 21 ศพ เฉพาะวันอังคารที่ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตในเท็กซัสถึง 4 ศพ โดยเจ้าหน้าที่ของซีดีซีกำลังศึกษาโอกาสกลายพันธุ์ของไวรัสเวสต์ ไนล์ด้วย แม้ยังไม่พบข้อมูลมีการกลายพันธุ์ของไวรัสร้ายดังกล่าวแต่อย่างใด

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าสภาพอากาศที่อบอุ่น ไม่ว่าฤดูใบไม้ผลิมาเร็วกว่าปกติและฤดูร้อนที่อากาศร้อนมาก กลายเป็นปัจจัยเร่งให้ยุงเพาะพันธุ์และแพร่เชื้อไวรัส โดยแพร่เชื้อสู่คนหลังกัดนกที่ติดเชื้อไวรัสเวสต์ ไนล์ พบระบาดครั้งแรกในยูกันดาเมื่อปี 2480 พบผู้ป่วยในสหรัฐฯครั้งแรกที่รัฐนิวยอร์กเมื่อปี 2542 ก่อนพบว่าค่อยๆระบาดไปทั่วสหรัฐฯซึ่งช่วงระบาดหนักสุดอยู่ในปี 2545-46 ผู้ป่วยอาการหนักเกือบ 3,000 คน ยอดผู้เสียชีวิตเกิน 260 ศพ แต่ปีที่แล้วการระบาดไม่รุนแรง มีผู้ป่วยไม่ถึง 700 คน

อย่างไรก็ดี มีผู้ติดเชื้อเพียง 1 ใน 5 ที่ล้มป่วยซึ่งใช้เวลา 3-14 วัน กว่าจะแสดงอาการ ส่วนอาการแรกเริ่ม เช่น เป็นไข้ ปวดศีรษะ และเจ็บปวดตามร่างกาย บางคนฟื้นตัวจากอาการได้ภายในไม่กี่วัน แต่ยังพบว่าผู้ติดเชื้อ 1 ใน 150 อาการจะเริ่มหนักขึ้นรวมทั้งปวดเมื่อยตามลำคอ อาการมึนงงหรือสับสน อาการหนักขั้นโคม่าและอัมพาต

ส่วนกรณีพบระบาดหนักสุดในเมืองดัลลัสนั้น เจ้าหน้าที่ยังหาสาเหตุไม่พบ โดยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีการขึ้นบินพ่นยากำจัดยุงทางอากาศ แต่ยังเร็วไปที่จะประเมินผลกระทบ สำหรับวิธีป้องกันไวรัสเวสต์ ไนล์ ที่ดีที่สุด คือ เลี่ยงไม่ให้ยุงกัด, ใช้ยากำจัดแมลง, ติดม่านหรือมุ้งลวดที่ประตูและหน้าต่าง, สวมเสื้อผ้าแขน-ขายาว รวมทั้งกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงต่างๆ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น